วันเสาร์

ชีวประวัติหลวงพ่อไพฑูรย์ ขันติโก


 เป็นสามเณรรูปแรกของ หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง
ท่านไปฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อชา สุภัทโท
ตั้งแต่ วันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๔
ท่านบวชเป็นผ้าขาว เป็นสามเณร เป็นภิกษุ
ตั้งแต่บัดนั้นจนกระทั่งบัดนี้

เกิดวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ "ปีวอก"
บรรพชา    พ.ศ. ๒๕๐๔ 
อุปสมบท   พ.ศ. ๒๕๐๙
------------------------------------------------------------- 

ส่วนที่ ๑

ประวัติย่อ
พระอธิการ ไพฑูรย์ ขันติโก
เจ้าอาวาส วัดสุภัททมงคล (สาขาวัดหนองป่าพง ที่ 35)
อ.ม่วงสามสิบ  จ.อุบลราชธานี
---------------------------------------------------------------

เกิดเมื่อ พ.ศ. 2488
ที่ บ้านนาขาม  ต.หนองเมือง  อ.ม่วงสามสิบ  จ.อุบลราชธานี

ท่านมีอุปนิสัยและความคิดความอ่านต่างจากเด็กทั่วไป คือ มีความเห็นโทษเห็นภัยในโลกตั้งแต่สมัยเป็นเด็กอายุได้ประมาณ 14 ปี  จากนั้นมีผู้ใหญ่พาไปจำศีลที่วัดหนองป่าพง  ท่านได้เกิดความพอใจในสภาพความเป็นอยู่ในวิถีสมณะเช่นนั้น  พอกลับมาท่านก็ตั้งใจว่าจะออกบวชให้จงได้  แม้ว่าทางครอบครัวจะยังไม่อนุญาต  แต่ท่านก็เริ่มฝึกตนเตรียมตัวอยู่เกือบ 2 ปี  ด้วยการฝึกเดินจงกรม  อยู่ป่าช้าคนเดียว  และถือเนสัชชิกไม่นอนตลอดคืน 

จนเมื่ออายุได้ประมาณ 16 ปี  ท่านก็จึงได้รับอนุญาตให้ไปอยู่ที่วัดหนองป่าพง  โดยมารดาและญาตินำท่านไปฝากตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์ชา สุภัทโท  ท่านก็ได้บวชเป็นผ้าขาว เป็นสามเณร และเป็นภิกษุ  ตั้งแต่ วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา ซึ่งกล่าวได้ว่า ท่านเป็นสามเณรรูปแรก ของหลวงพ่อชา สุภัทโท ที่ยังคงดำเนินชีวิตอยู่ในเพศสมณะใต้ร่มผ้ากาสาวพัตร์มาโดยตลอด ตั้งแต่บัดนั้นจนกระทั่งบัดนี้ 

หลังจากที่ท่านเที่ยวไปวิเวกเพื่อฝึกตน โปรดญาติโยม และสร้างศาสนสถานในที่ต่างๆ หลายปี   เมื่อปี พ.ศ.2543 ท่านก็ได้กลับมาพำนักประจำอยู่ที่ สำนักสงฆ์ป่าเครือวัลย์ อันเป็นสถานที่ซึ่งหลวงพ่อชามอบหมายให้ท่านดูแลตั้งแต่แรก  แล้วต่อมาในปี พ.ศ.2552 ก็ได้จัดตั้งเป็นวัดอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยตั้งชื่อว่า วัดสุภัททมงคลเพื่อระลึกถึงครูบาอาจารย์คือพระอาจารย์ชา สุภัทโท

ปัจจุบัน(พ.ศ.2555) ท่านมีอายุได้ 66 ปี  ดำเนินชีวิตในวิถีสมณะมา 50 พรรษา
ท่านได้ทำหน้าที่บรรยายธรรมะมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเผยแผ่ความรู้หลักธรรมที่ตรงกับแก่นคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้แก่ผู้สนใจใฝ่ศึกษาธรรมะ  และเพื่อเป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนาให้ยาวนานต่อไป

---------------------------------------------------------------


วัดสุภัททมงคล (สาขาวัดหนองป่าพงที่ 35)
บ้านยางเครือ  หมู่ ต.ยางสักฯ  อ.ม่วงสามสิบ  จ.อุบลราชธานี  34140
E-mail: supattamk35@hotmail.com

หมายเหตุ  มรดกธรรมเฉพาะ ที่พระอาจารย์เจตนาถ่ายทอดไว้ให้อนุชนรุ่นหลัง ได้มีการจัดทำเป็นไฟล์เสียง และหนังสือ เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต ผู้สนใจสามารถศึกษาได้ที่เว็บไซต์วัดสุภัททมงคล  http://supattamongkon.blogspot.com  


  ##################################



ส่วนที่ ๒
ชีวประวัติโดยสังเขป
พระอาจารย์ไพฑูรย์ ขันติโก
ท่านเล่าไว้เมื่อ วันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๐๐ น.
โหลดไฟล์เสียงที่หลวงพ่อเล่าไว้ (มรดกธรรมลำดับที่ 256) 
คลิ๊กที่นี่...

-------------------------------------------------------------------------------

         พระอาจารย์ไพฑูรย์ หรือเด็กชายไพฑูรย์ เกิดที่บ้านนาขาม ตำบลหนองเมือง อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของ นายพั่ว ฬานันท์ แม่คือ นางลุน ฬานันท์ มีพี่น้องร่วมกัน ๙ คน  เด็กชายไพฑูรย์เป็นบุตรคนหัวปีหรือเป็นคนแรก เป็นลูกชาวนาที่ยากจนคนหนึ่ง แต่ก็มีที่นาเป็นของตัวเองคิดว่าประมาณ ๓๐ กว่าไร่ แต่สมัยนั้นมันไม่ค่อยมีปุ๋ย ไม่ค่อยมีการพัฒนา อยู่ตามประสาของธรรมชาติ ทำนาได้ข้าวมาก็ไม่พอกิน ต้องไปกู้ยืมคนอื่นจึงจะมีพอกินตลอดทั้งปี  อยู่มาก็ได้เข้าโรงเรียนประถมตามที่รัฐบาลมีอยู่ในยุคโน้น ภาคบังคับก็คือ ๔ ปี พอจบ ป.๔ ก็ พ.ศ.๒๔๙๙ จะเรียนต่อก็ไม่มีโอกาส สมัยโน้นไม่มีโรงเรียนมัธยม และฐานะทางครอบครัวก็ไม่มีพอที่จะส่งเสียให้ไปเรียนต่อในตัวจังหวัดหรือกรุงเทพฯ โดยมากก็จบกันแค่ ป.๔ แล้วก็เลิกกัน ออกมาทำนาต่อไป
          อยู่มาเด็กชายไพฑูรย์อายุได้ ๑๒ ปี น้องสองคนก็มาตายจากไปด้วยอหิวาตกโรค ตายคืนเดียวกันสองคน แล้วชาวบ้านก็ถือกัน ตายทันทีก็เอาไปฝังทันที เหมือนกับบางศาสนา  เสร็จแล้วพออยู่มาคุณพ่อก็มาตายลงไปอีกด้วยโรคที่เรียกว่าไหลตาย  ตอนนี้มีปัญหามากในด้านความรู้สึก มันสะท้อนถึงจิตใจของเด็กชายไพฑูรย์เป็นอย่างล้นพ้นหาประมาณมิได้ มันคิดถึงเรื่องพลัดพรากจากไป เรื่องตาย ความตายเป็นอย่างนี้หรือ  ตอนอายุสิบปีหน่อยๆ ก็มีการน้อมเข้ามาน้อยๆ  คุณแม่ก็อยู่กับยายเท่านั้น ตาหนีไปเอาเมียใหม่ตั้งแต่ตอนไหนไม่รู้ เราเกิดมาก็ไม่เห็นตา เห็นแต่ยาย  พอพ่อตาย ยายก็อยู่กับแม่ ก็เลี้ยงเด็กเลี้ยงหลานตามประสาของชาวบ้านในยุคโน้น ตามเกิดตามมี ก็อยู่กันด้วยความทุกข์ยากลำบากแร้นแค้นอย่างแสนสาหัส พูดอย่างนี้ก็ได้ แต่ก็ไม่ใช่มีแต่ครอบครัวเรา ครอบครัวอื่นก็คล้ายๆ กัน เช่นกัน เพราะว่าสมัยโน้นมันเป็นอย่างนั้น ไม่มีใครที่จะโดดเด่นเท่าไรหรอก ทำนาไม่ได้ขายข้าว แม้แต่กินก็ยังไม่พอ
          มันกระจายความคิดในขณะนั้นมากมาย ทั้งวันทั้งคืนไม่หยุด คล้ายๆ ว่าไม่มีใครที่จะคิดอย่างนี้มาก่อน มันคิดเห็นความเกิดความตายนี่มันวุ่นวายขัดข้องไปหมดเลย เห็นโทษของความเกิดมาเป็นมนุษย์เป็นสัตว์ทั้งหลาย มีแต่ความขัดข้องวุ่นวาย ไม่สะดวกสบาย จนกว่าชีวิตจะหาไม่ ตายไป  ก็เลย โอ..ชีวิต ทำยังไง ทำไมต้องเป็นอย่างนี้ โลกนี้ทำไมต้องเป็นอย่างนี้ คิดหนัก ทำยังไงถึงจะไม่เป็นอย่างนี้
          ก็ใช้ชีวิตอยู่กับคุณแม่สองปี ด้วยความคิดอันแหวกแปลกแนวจากเด็กชาวบ้านอื่นๆ  คิดว่าตัวเองเป็นอย่างนั้น  คนแก่เขาบอกว่าคิดแบบนี้มันคิดแบบครั้งพระพุทธเจ้า ครั้งพุทธกาลมีพระเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าหลายองค์ก็คิดแบบนี้ จะไปเอาลูกเอาเมียมีแต่ความยุ่งยากลำบาก ไปให้เขาเกิดมา เกิดมาแล้วก็ตายจากกันไป อะไรอย่างนี้ สับสนวุ่นวายหมด โอ..คิดอย่างนี้มันต้องไปบวชกับหลวงพ่อชา เขาว่างั้น ต้องพาไป  ทีแรกก็มีคนแก่สองคนเขาพาไปวัดหนองป่าพง พาไปก็ไปนอนค้างคืนเดียว ไปฟังท่าน ไปวันพระ แล้วก็กลับมา  เป็นเด็กไม่มีตังค์ คนแก่สองคนนั่นคงเสียค่ารถให้ แต่บางทีรถเขาก็ไม่เก็บตังค์หรอกเพราะเป็นเด็กอายุ ๑๒-๑๓ ปี เขาอาจจะเห็นว่าไปกับคนแก่ ก็เป็นไปได้ ไม่รู้เขาจ่ายหรือไม่จ่าย เราจำไม่ได้แล้ว  รถโดยสารไปถึง อ.วารินชำราบ แล้วก็เดินเอา เพราะมันไม่มีรถต่อไปถึงวัดหนองป่าพง เดินลัดทุ่งนาไป นั่นคือไปครั้งแรก
          พอไปครั้งที่สอง ทีนี้อยู่ไม่ได้แล้ว บอกแม่ว่าผมอยู่ไม่ได้ ผมต้องไปบวช ผมใจจะขาดตายแล้ว อยู่ไม่ได้ มองเห็นความทุกข์ยากลำบากไปหมด เดี๋ยวตายซะก่อน หรือเป็นอะไรไปซะก่อน มันจะช้าไป ต้องไป รีบไปโดยเร็ว  แม่ก็บอกว่าใครจะอยู่กับกู ใครจะเลี้ยงน้อง ใครจะช่วยทำนา ใครจะไถนาให้ โอ๊ย..ช่วยยังไง ผมใจจะขาดตายแล้ว พอดีน้องชายคนถัดจากเรามันก็พอไถนาได้ คงช่วยแม่ได้ เอาล่ะ..ยังไงไอ้หมอนี่มันคงช่วยแม่ได้แหละว่ะ มันไม่มีที่สิ้นสุดหรอก รอไปก็ไม่รู้ยังไง คุณพ่อก็ยังตาย และลูกแกน้อยๆ ยังพลัดพรากจากแกไปเลย จะทำยังไง เผื่ออะไรเกิดขึ้นอีก ชีวิตมันไม่แน่ อะไรยังไง ต้องไป
          เสร็จแล้วคุณแม่ก็อนุญาตทั้งน้ำตา เราก็ไป ไปทั้งห่วงทั้งใย ทั้งคิดหน้าทั้งคิดหลัง ห่วงคุณแม่กับยาย คิดห่วงน้อยก็ห่วง อยู่ก็อยู่ไม่ได้ จะไป โอ๊ย..วุ่นวายหมดเลย ก็เลยไปโดยวุ่นๆ นั่นแหละ  ท่านก็พาไปฝากให้ หลวงพ่อชาก็พูดว่า โอ๊ย..เอาลูกเขามา เอาลูกเขามาแล้ว คล้ายๆ ว่าเอาลูกพลัดพรากจากแม่มาแล้ว อะไรอย่างนี้น่ะ ท่านก็พูดคำเดียว โอ๊ย..เอาลูกเขามาแล้ว  ก็ฝากให้เป็นตาปะขาวในวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ จึงได้มาอยู่กับหลวงพ่อชา บวชเป็นตาปะขาวก่อน ต่อมาใกล้จะเข้าพรรษาท่านก็บวชเป็นสามเณรให้ บวชพร้อมกัน ๔ รูปด้วยกัน แต่เสร็จแล้วพวกนั้นเขาก็สึกไปหมดเหลือแต่เรา
          หลวงปู่ชาก็เป็นห่วงเป็นใยเราคล้ายเราเป็นลูก ท่านห่วงใยเราเป็นอันดับแรกๆ เลย เมตตาสงสารเรา เอาใจใส่เป็นพิเศษ เพราะว่ามันเป็นเด็ก นอกนั้นเขาเป็นพระเขาก็โตแล้วทั้งนั้น  ช่วงนั้นก็ยังมีไข้มาลาเรียบ่อยๆ สาขาก็ยังไม่มี แต่ก็เริ่มมีสาขาแรกในปีนั้นแหละ ท่านก็ห่วงใยเรากลัวเราจะเป็นไข้ กลัวจะเกิดอะไรขึ้นอีก ท่านคงจะมีความรู้อะไรของท่านเป็นพิเศษ ท่านก็ส่งให้เราไปจำพรรษาที่สาขาที่ ๑ (วัดเก่าน้อย อ.วารินฯ) เป็นครั้งแรก ไปกับพระอาจารย์อีกสองรูป เราเป็นสามเณรองค์เดียว ไปจำพรรษาที่สาขาที่ ๑ และก็เป็นหนึ่งอีกอย่างคือปีแรก เป็นพรรษาแรก  ที่นั่นมันสะดวกหน่อย ยังไม่มีไข้มาลาเรีย แล้วพวกอาหารก็พอใช้ได้ พอทั่วถึงทั้งสามองค์ พอฉันอิ่ม  แต่ที่วัดหนองป่าพงมันจะกันดารกว่านั้นในเรื่องอาหาร เรื่องความเป็นอยู่ บิณฑบาตก็ไกลกว่า  แต่พอถึงหน้าแล้งก็กลับมาหรอก มาอยู่กับท่าน ปรนนิบัติรับใช้ใกล้ชิดท่านนั่นแหละ ไปบิณฑบาตกับท่านสององค์กับหลวงปู่ชา ไปบ้านกลางเป็นสายประจำ  พอเข้าพรรษาท่านก็ให้ไปสาขาที่ ๑ อีก จำพรรษาที่นั่นอีกต่อเนื่องเป็นพรรษาที่สอง เพราะว่าท่านห่วงเรา กลัวจะเป็นไข้ หน้าฝนมันจะเป็นไข้ง่ายกว่าหน้าแล้ง ท่านก็คล้ายๆ เลี้ยงดูเรามาตั้งแต่เด็กเลย เอาใจใส่เป็นพิเศษ หลีกเลี่ยงไม่ให้เจ็บป่วยไข้ต่างๆ 
          พอต่อมาซึ่งก็ได้เพียงสองพรรษาเท่านั้นเอง อยากจะไปวิเวก จึงขอท่าน หลวงพ่อครับผมอยากจะไปวิเวก ขอผมไปวิเวกหน่อย  มันจะไปยังไง เอ้า..จะไปก็ไปแต่ว่าให้ไปองค์เดียว ท่านว่าอย่างนั้น ท่านคงจะลองใจว่าเณรองค์นี้มันคิดอะไรแปลกๆ มันจะไปองค์เดียวยังไง มันเด็กอยู่ แล้วก็เป็นเณร มันจะไปยังไง เอ้า..ไปก็ไป ท่านให้ไป ทดลองดู  เราก็ไปวิเวก ไม่เรียกว่าไปธุดงค์หรอก เขาไม่ได้บอกธุดงค์ เขาเรียกไปวิเวก กายวิเวก จิตวิเวก ตามหลักวินัยมันมีอย่างนั้น ธุดงค์นั่นมันมาใหม่ มันชื่อใหม่ มันไม่ใช่ ธุดงค์ไม่ใช่เดินไป มันเป็นคำศัพท์มาแทรกใหม่ๆ  หน้าแล้งนั้นเราก็เลยไปวิเวก ทั้งปีก็ว่าได้ แล้วก็กลับมาจำพรรษาที่วัดหนองป่าพงนั่นแหละปีนั้น  ตั้งแต่นั้นก็จำพรรษาที่วัดหนองป่าพงตลอด รับใช้ใกล้ชิดหลวงพ่อชา ช่วยท่านอยู่นั่น
          ต่อมาท่านก็ให้ไปส่งหลวงปู่กินรี ที่บ้านต้อง อ.พระธาตุพนม จ.นครพนม หลวงปู่กินรีมาเยี่ยมในช่วงหน้าหนาวนี่แหละ ออกพรรษาแล้วท่านมาพักอยู่วัดหนองป่าพงชั่วระยะหนึ่ง ตอนจะกลับไปท่านก็ให้ไปส่ง ไปส่งท่านไปพร้อมกับเณรอีกองค์หนึ่ง เณรไพฑูรย์กับเณรสมภารไปส่งหลวงปู่กินรี ไปขึ้นรถบัสที่เมืองอุบลฯ ไปแล้วก็ไปอยู่กับท่าน ถ้าอยากจะกลับมาก็ให้เดินมา เดินวิเวกมา หลวงพ่อชาท่านว่าอย่างนั้น ไม่ต้องนั่งรถน่ะ อย่าไปให้ท่านเป็นภาระน่ะ แม้แต่จะส่งขึ้นรถมันก็ไม่มีตังค์ มันยากมาก ถ้าจะนั่งรถกลับมามันจะไปรบกวนท่านน่ะ ต้องเดินมา แต่มันเคยเดินแล้ว เณรไพฑูรย์มันเคยเดินแล้ว มั่นใจเชื่อใจได้ มันเคยไปแล้ว ไปคนเดียวมันยังไปได้เลย  ก็เลยอยู่ปรนนิบัติรับใช้หลวงปู่กินรีช่วงระยะหน้าแล้ง แล้วก็ขอลาท่าน เพราะท่านก็มีหลวงตาอยู่ด้วยองค์หนึ่งกับเณรอีกองค์หนึ่ง  อยู่กับท่านระยะหนึ่งก็เลยลาท่านไป จะไปวิเวกต่อ แล้วก็จะย้อนกลับวัดหนองป่าพง
          ก็ไปทางสกลนคร ไปพักอยู่กับหลวงปู่แบน วัดดอยธรรมเจดีย์ อยู่ที่นั่นก็ช่วงนั้นแหละหลังจากออกจากหลวงปู่กินรี  พักอยู่กับหลวงปู่แบนก็นานแต่ก็ไม่นานเท่าอยู่กับหลวงปู่กินรี  พอดีหลวงปู่แบนท่านจะไปเยี่ยมสาขาท่านอยู่อีกอำเภอหนึ่ง ท่านก็เลยชวนว่าไหนๆ ก็จะกลับแล้ว เอ้า..ไปกับผม ขึ้นรถจิ๊บคันเล็กๆ  หลวงปู่แบนท่านก็ดี ท่านต้อนรับเอื้อเฟื้อ สมัยก่อน โอ้..ดี อบอุ่นดี ให้เกียรติ แม้แต่เณรก็ให้เกียรติน่ะ พระเถระ พระอาจารย์ นี่ให้เกียรติเณร เณรตัวน้อยๆ ท่านก็ให้เกียรติ  เราก็กลับกับท่าน แล้วก็ไปพักที่ถ้ำที่ท่านสร้าง แต่ว่าต่อมามันเกิดคอมมิวนิสต์ เขาก็ให้พระออกจากป่าออกจากถ้ำ อยู่ไม่ได้ ถ้ำนั้นก็คงจะยังไงไม่รู้ ไม่เคยย้อนไปอีก  ก็เดินมาเรื่อยๆ เดินวิเวกมากับเณรสมภาร จนใกล้จะเข้าพรรษาจึงถึงวัดหนองป่าพงพอดี ไม่ได้นั่งรถมา นี่คือชีวิตในช่วงเป็นสามเณร ที่มันแปลกหน่อยก็เลยเอามาเล่า ไปเดินกรรมฐานตั้งแต่สมัยเป็นสามเณร เป็นหัวหน้าเณร ไม่มีพระให้เดินตาม
          อยู่วัดหนองป่าพง เสร็จแล้วก็ช่วงหนึ่ง ก็รับใช้ท่านอยู่นั่น เรามีบทบาทที่เด่นชัดที่จะเอามาแนบไว้ในประวัติ บทบาทในสงฆ์บทบาทในการอยู่ปรนนิบัติรับใช้หลวงปู่ชา ที่มันเด่นอยู่ก็คือ ข้อวัตรที่เราเสนอขึ้นในที่ประชุม เรื่องเลิกสูบบุหรี่ เลิกกินหมาก สมัยก่อนยังสูบบุหรี่ กินหมาก  พระวัดหนองป่าพงตอนนั้นยังไม่มาก ยังไม่ถึงสิบองค์ พอเริ่มสูบกันมากขึ้นเราก็หงุดหงิด มันดูไม่ดีไม่งาม ความรู้สึกคิดมาก ไม่เหมือนเขา มันวุ่นวาย เราไม่เคยแตะต้องบุหรี่สักที ก็เลยเสนอ ก็ไปหาสมาชิกแนวร่วมที่เขาไม่สูบ มีหลวงพ่อศรี หลวงพ่อมหาอมร หลวงพ่อมหาอินทร์ นี่พวกที่ท่านไม่สูบบุหรี่ มีชัดๆ ๓-๔ องค์เท่านั้นไม่สูบบุหรี่ นอกนั้นสูบเรียบ คนไม่เคยสูบก็ไปสูบ ช่วงนั้นสงครามเวียดนามมาพอดี มีพวกฝรั่งเข้ามา พวกในเมืองมีรายได้ดี ใครมาก็ซื้อบุหรี่มาถวาย เห็นพระสูบก็หามา องค์ที่ไม่เคยสูบก็สูบกับเขา สูบกันจริงๆ ควันโขมงทั้งศาลาเลย เราก็จะตายแล้ว เหม็นควันบุหรี่ของเพื่อน ก็เลยเสนอขึ้นในที่ประชุม หลวงพ่อชาท่านก็เอาด้วย เห็นด้วยเลย เอาล่ะ..ตั้งแต่วันนี้ต่อไปเลิกกันเลยน่ะ เด็ดขาดไปเลย ทำอะไรให้มันเด็ดขาดไปเลย เป็นกติกาสงฆ์ไปเลยตั้งแต่วันนี้ นี่คือบทบาทหนึ่งทางสงฆ์ที่เราเสนอแล้วมันได้ผล ยังอยู่มาได้จนทุกวันนี้  แต่ถ้าท่านไม่เอาด้วยจะทำยังไง ก็อยู่ไม่ได้แล้วที่วัดป่าพง เราจะเนรเทศตัวเองออกไปเลย ไม่อยู่แล้ว ถ้าไม่ชนะข้อนี้ก็อยู่ไม่ได้ จะสูบบุหรี่ทำไม สูบบุหรี่มันก็เหมือนกับสุมไฟ เรามันรุนแรงอยู่แล้ว นิสัยรุนแรงมาตั้งแต่เด็ก พอชนะก็ เออ..อยู่ได้ นั่นคือข้อหนึ่ง
          อีกข้อหนึ่งก็ ที่เห็นปรนนิบัติในเวลาท่านฉัน คือล้างมือและถวายไม้สีฟัน มันก็มีในพระวินัย แต่ยังไม่มีใครทำ เราก็ไปคอยล้างมือให้ท่าน ไปจัดผลไม้บางอย่างถวายท่าน เราฉันเสร็จก่อนแล้วเราก็ลงไปคอยปรนนิบัติ คอยล้างมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการล้างมือ ทีแรกก็ล้างมือเท่านั้นเอง ท่านก็ให้เราล้างมือให้ เราฉันเสร็จก่อนเราก็ลุกไปคอย  คนที่อยู่ก่อนเราก็ไม่เห็นใครทำเลย เราคิดได้เอง ท่านก็ไม่ได้บอก แต่เราคิดอย่างนั้น คิดว่าควรจะไปทำลองดู ถ้าท่านว่าท่านห้ามจึงค่อยจะหยุด ถ้าท่านไม่ห้ามก็ทำไปเลย เราก็คิดแปลกๆ ตามันเห็นมันอยู่เฉยไม่ได้ มันคิดไป คิดจะไปล้างมือ ปรนนิบัติท่าน  เออ..ได้น่ะ ท่านก็ไม่ว่าอะไร ท่านเฉยๆ  ตอนนั้นก็มีแต่เราคนเดียวทำ พระองค์อื่นเขายังไม่กล้าที่จะไปทำ เพราะเราก็เหมือนกับว่ามีความใกล้ชิด เหมือนกับลูกเหมือนกับพ่อ ความคุ้นเคยความใกล้ชิดกับหลวงปู่ชานี่ เรามีใจแนบสนิทกับท่านคล้ายๆ ลูกกับพ่ออย่างนั้นเลย ท่านจะว่าก็ว่าลูก ท่านจะห้ามก็ห้าม ก็ไม่ว่าอะไร เรามีใจอย่างนั้น เพราะเราไปอยู่กับท่านตั้งแต่เด็ก เสร็จแล้วต่อมาเพื่อนเขาก็ทำด้วย ก็เอาบ้าง  ส่วนที่ล้างเท้า ล้างบาตร อะไรนั่น ทำประจำอยู่หรอก มีอยู่ก่อน  แต่ล้างมือนี่ไม่เห็นใครทำ  นี่คือสองอย่างนี้เด่นๆ ที่เราริเริ่มทำข้อวัตรอันนี้ ติดมาตั้งแต่บัดโน้นจนกระทั่งบัดนี้ นี่คือบทบาท คือผลงานที่เราได้ไปพึ่งบารมีหลวงปู่ชา แล้วเราก็เสนอข้อวัตรในที่ประชุม แล้วก็ทำสืบมาได้จนถึงทุกวันนี้
          อยู่มาปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ถ้าจำไม่ผิด ที่นั่นมันลงตัวแล้วก็เลยลาท่าน อยู่ที่นั่นมันต้องรับผิดชอบหลายอย่าง ต้องเป็นภาระรับแขก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เขามาบวช ต้องตัดเย็บผ้า โอ..มันเป็นภาระมากขึ้น วัดมันกำลังเจริญ  พอจวนจะเข้าพรรษาเราก็ขอลาท่าน จะไปจำพรรษาที่ อ.เด่นชัย ปีนั้นก็ได้ไปจำพรรษาที่เด่นชัด ไปอยู่วัดร้างเขา มีหลวงพ่อฉลวยเป็นประธาน อยู่ด้วยกันสี่รูป มีอาจารย์กัณหาเป็นองค์หนึ่งที่อยู่ร่วมกัน อยู่หนึ่งพรรษา เสร็จแล้วพอออกพรรษาก็มีอาจารย์เสกกับอาจารย์อำนวยไปหา พอหลายคนมันก็เลยดูแคบ ไม่มีที่จะอยู่ ก็เลยให้โอกาสทั้งสองท่านนั้น เราก็เลยถอนตัวออกมา บอกหลวงพ่อฉลวยว่าผมขอลาไปวิเวกต่อ แล้วก็ลงไปจำพรรษาที่ อ.นิคมควนกาหลง วัดเก่าวัดร้างเขาเหมือนกัน อยู่ในป่าลึก จ.สตูล อยู่นั่นพรรษาหนึ่ง ไปกับอาจารย์กัณหา เราอยู่นั่นไม่ถูกกับอากาศหรือมันไม่เหมาะอะไรสักอย่าง มันมีลมออกหูตลอด โอ๊ย..ไม่ไหว เดินจงกรมทำความเพียรมันแรงเกินไปหรือยังไงก็ไม่รู้ เสร็จแล้วก็เลยให้อาจารย์กัณหาจำพรรษาอยู่นั่น เราก็ถอนตัวมาจำพรรษาที่วัดเขาต้นเกด อยู่จำพรรษากับหลวงพ่อฉลวยอีก จำพรรษาที่เขาต้นเกดสองพรรษา เสร็จแล้วก็กลับวัดหนองป่าพง อยู่มาก็อยู่ไป
          มีช่วงหนึ่งก็ไปจำพรรษาที่เขาจันทร์งาม แต่มันกลับไปกลับมา มันไม่ได้อยู่นานต่อเนื่องหรอก อยู่วัดหนองป่าพงนานๆ หน่อยแล้วก็สลับออกไปจำพรรษาที่อื่นบ้าง อย่างนี้  ไปจำพรรษาที่วัดบึงฯ อยุธยา พรรษาหนึ่ง  ไปจำพรรษาที่จังหวัดอุดรฯ อ.บ้านดง นั่นก็พรรษาหนึ่ง  ไปจำพรรษาที่วัดดอยธรรมประทีป อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ นั่นก็พรรษาหนึ่ง  ไปจำพรรษาที่ภูดินแดง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ พรรษาหนึ่ง  แล้วก็ไปจำพรรษาที่วัดโนนจันทร์ สองพรรษา อันนี้หลวงพ่อชาส่งไปโดยเฉพาะ เขาสร้างวัดไว้เสร็จแล้ว แต่ไม่มีพระไปจำพรรษา เขามาขอ เราก็กลับมาจากวิเวกนั่นแหละ กลับมาจากจำพรรษาที่ไหนก็ไม่รู้ ท่านบอกว่ามันไม่มีพระ มีองค์นี้แหละกำลังมา มันเป็นจังหวะพอดี ท่านก็เลยให้ไปจำพรรษาที่วัดโนนจันทร์ ต.ทุ่งเทิง อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี สองปีเต็ม
          พอเสร็จแล้ววัดเครือวัลย์ (หรือวัดสุภัททมงคล) ขาดพระ เขาก็ไปขออีก ที่จริงเดิมเป็นของหลวงพ่อสาย  พระของหลวงพ่อสายสึกไป เลยไปขอหลวงปู่ชา ขอก็เจาะจงอยากได้องค์นี้ เพราะว่าบ้านเดิมอยู่ทางนี้ ก็เลยเจาะจงว่าเอาพระอาจารย์ไพฑูรย์นี่แหละมา ท่านก็เลยอนุญาตให้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ มาอยู่ที่วัดเครือวัลย์ หรือวัดสุภัททมงคล ทุกๆ วันนี้  ก็มีไปจำพรรษาที่อื่นบ้างสลับสับเปลี่ยนบ้าง เป็นบางกาลบางจังหวะ นี่คือสถานที่ต่างๆ ที่ไปจำพรรษา  ก็มีโอกาสไปเยี่ยมประเทศออสเตรเลียไปอยู่ห้าเดือน แล้วก็ไปอินเดียไปเยี่ยมไปกราบปูชนียสถาน ๔ ตำบล เก้าวัน นี่คือชีวประวัติที่ไปต่างประเทศ ก็เท่านั้นเอง แล้วก็ไปประเทศลาวอยู่ประมาณเดือนหนึ่ง แถวๆ เวียงจันทร์  ช่วงหน้าแล้งเคยไปพักอยู่กับหลวงปู่เทสก์ ไปวิเวกไปดูไปฟังปฏิปทาของท่านอยู่ที่นั่น หลวงปู่เทสก์ วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย  ชีวิตนอกนั้นส่วนมากก็อยู่วัดหนองป่าพง แล้วก็วัดสุภัททมงคล  นี่คือสองที่ที่อยู่มากกว่าที่อื่น จำพรรษาอยู่มากกว่าที่อื่นคือสองแห่งนี้ วัดหนองป่าพง กับวัดสุภัททมงคล ตราบเท่าปัจจุบันทุกวันนี้
          ส่วนเรื่องอุปสรรค์ต่างๆ ก็มันมาก ก็มี แต่ว่าเอาล่ะเอาไว้แค่นี้ก่อน อยู่ที่นี่ก็สบาย แต่มันก็มีอุปสรรค มีก็เหมือนคล้ายไม่มี เพราะว่าเราดูความจริง ดูความบริสุทธิ์ของเรา สุทธิ อสุทธิ ปัจจัตตัง ไม่ได้ไปทำอะไรกับใคร ชีวิตเราตั้งใจมุ่งมั่นที่จะอยู่แบบมุ่งหวังมรรคผลนิพพานอย่างเดียว ใช้ชีวิตอยู่อย่างนี้  ฉะนั้น ประวัติโดยย่อก็เล่าคร่าวๆ ย่อๆ รวบรัด แต่มันไม่ไล่ไปตามจังหวะหรือวันเวลา วันเดือนปีนี่มันจำไม่แม่น ก็อย่าคำนึงถึงมันเลย ก็รวบๆ เป็นหัวข้อใหญ่ๆ ว่าใช้ชีวิตอยู่ไหนบ้าง ไปไหนบ้าง จำพรรษาที่ไหนบ้าง มีเกี่ยวข้องกับอะไรบ้างที่มันโดดๆเด่นๆหน่อย  เอ้า..ก็คงจะพอที่เล่าประวัติอย่างนี้น่ะ
          ทุกวันนี้เราก็อยู่ที่นี่ พ.ศ. ๒๕๕๓ ที่เล่าประวัตินี้ก็เป็นปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ที่วัดสุภัททมงคล อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี  ก็อย่างนี้เอง

  ##################################

ส่วนที่ ๓


บันทึกเกร็ดข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับหลวงพ่อ (จากที่เคยได้ยินท่านเล่าเป็นครั้งคราว) โดยศิษย์  โกวิโท ภิกขุ
            ข้อมูลส่วนนี้เป็นการบันทึกสะสมจากที่เคยได้ยินท่านเล่าทีละเล็กทีละน้อย แล้วจดจำไว้ โดยมีเจตนาเพียงเพื่อให้เป็นข้อมูลในการศึกษาและเจริญศรัทธาของศิษยานุศิษย์  ถ้าหากมีส่วนใดบันทึกไว้ผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนไปบ้าง ผู้บันทึกต้องกราบขออภัยไว้  สำหรับผู้อ่านทั่วไปก็ขอให้พิจารณาเลือกเอาเฉพาะส่วนที่เป็นประโยชน์เถิด

สมัยเด็กก่อนมาฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่ชา

            ท่านมีนิสัยเอาจริงเอาจัง เป็นตัวของตัวเอง มีความคิดความอ่านมากเกินเด็ก และชอบสังเกต คิดค้น ไม่ชอบเชื่อหรือทำตามใครง่ายๆ เหตุผลต้องมาก่อนความเชื่อ ทำให้ท่านมีความคิดความเห็นสวนทางกับชาวบ้านผู้เฒ่าผู้แก่มาตั้งแต่สมัยเด็ก
            เคยโยนตะกร้าหมากของยายออกนอกรั้ว(ต่อหน้าต่อตา) เพราะรำคาญที่เห็นคนแก่เคี้ยวหมากตามๆ กัน ตื่นเช้ามาก็คว้าไม้แก่นคูณมาสับโป๊กๆ ก่อนกินข้าวเสียอีก
            เคยแอบเอาไม้ไปทุบศาลปู่ตา(หลายหลัง)ที่ชาวบ้านเขาสร้างให้เจ้าที่หรือผีอยู่ เพราะเห็นเขาพากันกราบไว้เชื่อกันแบบงมงาย ผีมันจะเก่งอะไร สร้างบ้านอยู่เองยังไม่ได้ ต้องให้คนสร้างให้ (ท่านแอบไปทำ เพราะถ้าผู้เห็นเขาจะตีเอา)
            เมื่อเห็นผู้ใหญ่บางคนสูบบุหรี่ กินเหล้า แล้วรู้สึกไม่ชอบใจ เพราะเห็นว่าเป็นพวกผู้ใหญ่ไม่มีหัวคิด แต่ก็ไม่กล้าไปต่อว่าเขา เพราะยังเป็นเด็กก็กลัวโดนเขาตี ได้แต่คิดอยู่ในใจ
            เวลาที่มารดาของท่านโมโหจะเอ็ดท่านว่า ไอ้ดำปอด ไอ้ตับเดียว ไอ้ผีถู แล้วท่านก็ตอบย้อนคืนไปว่า ไม่ใช่ไอ้ผีถู ต้องเรียกว่า ไอ้ถูผี (เพราะถ้าเห็นศาลปู่ตาเขาสร้างให้ผีอยู่ ท่านก็จะแอบเอาไม้ไปตีให้พังเลย ทำไมงมงายเชื่อกันนักหนา)
            พอโยมมารดาใช้ให้ท่านดูแลน้อง ท่านจะไม่ยอมทำ ท่านตอบกลับไปว่า ใครทำออกมาก็เลี้ยงเองซิ  โยมมารดาท่านก็เลยว่า เออ..เดี๋ยวจะคอยดูลูกเมียมันว่าจะหน้าตาเป็นยังไง  ท่านก็ย้อนกลับอีกว่า เออ..คอยดู คอยดู ฉันจะไม่ทำเหมือนชาวบ้าน ฉันจะไม่มีลูกมีเมียให้มันยุ่งยาก คลอดกันออกมายั๊วเยี๊ยแล้วก็ร้องไห้กันวุ่นวาย มันโง่ทำตามเขา
            ท่านขบคิดแล้วมากเกี่ยวกับเรื่องความทุกข์ จนสรุปลงได้ตรงที่ว่า ถ้าธรรมชาติไม่สร้างให้คนเกิดมา หรือไม่ต้องสร้างให้มีอะไรๆ ไม่ต้องมีคน มีสัตว์ มีโลก มีดวงจันทร์ มีดวงอาทิตย์  มันก็สิ้นเรื่อง มันก็ไม่มีทุกข์อะไร  แต่มันก็ห้ามไม่ได้ ธรรมชาติมันสร้างมาให้อย่างนี้แล้ว 
            อายุราวๆ 13-14 ปี มีผู้ใหญ่บางคนเขาเห็นว่าคิดแปลกๆ แบบนี้มันเหมือนกับสาวกพระพุทธเจ้าสมัยโน้น เขาก็เลยพาไปกราบหลวงปู่ชา ที่หนองป่าพง พอไปเห็นแล้วในใจก็บอกเลยว่า นี่แหละคือที่สำหรับเรา (มีโอกาสไปแค่สองครั้งก่อนจะได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์) ท่านขบคิดด้วยปัญญาของตนเองจนจบในหัวอย่างถี่ถ้วนแล้ว ไม่เห็นมีอะไรน่ายินดี เห็นว่าสิ่งที่คนทั่วไปในโลกเขาทำตามๆ กัน มันไม่ได้ประโยชน์อะไร นำมาแต่ความวุ่นวายขัดข้องทุกข์ยาก จึงไม่ปรารถนาจะอยู่ในวิถีชีวิตแบบชาวบ้าน  ท่านได้ขออนุญาตมารดาว่าจะไปอยู่กับหลวงปู่ชา แต่มารดาและญาติๆ ไม่ยอมให้ไป แถมสบประมาทอีกว่าจะไปอยู่กับหลวงปู่ชาได้หรือ ต้องกินข้าวมื้อเดียว นอนคนเดียว อยู่ในป่าช้าด้วยน่ะ  ท่านจึงไปเรียนวิธีเดินจงกรมนั่งสมาธิกับผู้ใหญ่คนหนึ่ง แล้วกลางวันพอว่างจากงานท่านก็ไปฝึกฝนตนเองตามหัวไร่ปลายนา กลางคืนก็เดินจงกรมอยู่ตามถนนเพราะสมัยนั้นไม่มีไฟฟ้า ต้องอาศัยที่โล่งและแสงจากดวงจันทร์  และกลางคืนก็ไปฝึกอยู่ป่าช้าคนเดียว ทำอย่างนั้นอยู่ราว 2 ปี  จากนั้นทางบ้านจึงได้ยอมอนุญาตให้ไปอยู่กับหลวงปู่ชา และได้บรรพชา นับเป็น สามเณรรูปแรกของวัดหนองป่าพงอยู่รับใช้ใกล้ชิดหลวงปู่ชามาตั้งแต่นั้น (ตอนนั้นบวชเณรพร้อมกันสี่รูป แต่คนอื่นเขาบวชชั่วคราวแล้วก็สึกไปหมดแล้ว และตอนนี้ก็ตายไปหมดแล้ว)

สมัยมาอยู่กับหลวงปู่ชา

            สมัยแรกที่อยู่กับหลวงปู่ชา วัดหนองป่าพงยังเป็นแค่สำนักสงฆ์ เป็นไร่เก่า(ปลูกปอ) ไม่มีต้นไม้ใหญ่เลย  ตอนที่ไปอยู่ (พ.ศ.2504) มีพระเณรอยู่ร่วมกันไม่กี่รูป ซึ่งปัจจุบันก็มรณภาพหรือตายไปหมดแล้ว (ได้ยินท่านเอ่ยว่ามี หลวงปู่จันทร์ วัดบึงเขาหลวง, หลวงพ่อเที่ยง วัดป่าอรัญญวาสี)  ส่วนพระที่มาอยู่ภายหลังนั้น อายุมากกว่าท่าน มาทีหลังแต่ได้อุปสมบทเป็นพระก่อน และบางองค์ก็บวชมาจากที่อื่นได้หลายพรรษาแล้วค่อยมาฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่  แต่โดยกติกาของสงฆ์ก็ให้นับเรียงลำดับกันตามอายุพรรษา
            ตอนเป็นสามเณรหลังจากผ่านพรรษาแรก ก็ดื้อไปขอหลวงปู่ชา ว่าอยากไปเดินธุดงค์ หลวงปู่ชาก็เลยอนุญาตให้ไป แต่ท่านกำหนดให้ว่า "อยากไปต้องไปคนเดียวน่ะ"  ท่านก็เดินวิเวกไปทาง อ.โขงเจียม จ.อุบลฯ (ตอนแรกข้าพเจ้าก็สงสัยยังไม่พ้นนิสัยจากอาจารย์ทำไมไปได้ ตอนหลังท่านก็เอ่ยถึงเรื่องนี้แล้วขยายความว่า ถ้าเป็นพระต้องถือนิสัยอยู่กับอาจารย์ 5 พรรษา แต่เราเป็นเณรไม่ใช่พระ ก็ไม่ต้องทำตามกติกานี้)
            ตอนที่จะอุปสมบท วัดหนองป่าพงยังไม่ได้เป็นวัด หลวงปู่ชาจึงพาไปบวชที่วัดสมบูรณาราม ต.โนนโหนน อ.วารินชำราบ จ.อุบลฯ  ซึ่งวัดนี้ตั้งอยู่กึ่งกลางระยะทาง พระอุปัชฌาย์และผู้บวชก็เดินทางมาพบและทำพิธีกันที่วัดนี้  โดยมีหลวงปู่ชา นั่งร่วมในหัตถบาตร
            ด้วยความที่เป็นคนช่างสังเกต และอยู่รับใช้ใกล้ชิดส่วนตัวกับหลวงปู่ชา มาตั้งแต่ยุคแรกๆ ท่านจึงรู้จักปฏิปทาและอุปนิสัยหลวงปู่ชาเป็นอย่างดี และหลวงปู่ชาจะให้ติดตามไปที่นั่นที่นี่เสมอเพราะเป็นเณร จะปรนนิบัติอะไรก็สะดวก  ท่านอธิบายความลึกซึ้งที่หลวงปู่ชาท่านนำพาประพฤติปฏิบัติให้ฟังอยู่เสมอ ยากที่บุคคลภายนอกหรือศิษย์รุ่นหลังๆ จะได้มีโอกาสสัมผัส  ท่านเคยพูดเป็นการส่วนตัวว่า เรื่องจริงๆเกี่ยวกับประวัติหลวงปู่ชานั้น “บางเรื่องมันจริงกว่าในหนังสือที่เขาเขียน” ใครมีโอกาสกว่าก็ได้เขียนเผยแพร่ออกไป  ส่วนคนรู้เรื่องจริงๆ จะได้มีโอกาสพูดหรือเปล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง (พูดไว้ให้คิด..ว่าหนังสือก็คือหนังสือ เรื่องเล่าก็คือเรื่องเล่า แต่เรื่องจริงก็คือเรื่องจริง)
           
ตอนเป็นเณรเคยไปส่งหลวงปู่กินรี ที่บ้านต้อง จ.นครพนม (ไปกับเณรชื่อสมภาร) ออกจากบ้านต้อง  ก็เดินวิเวกไปทางสกลนคร และได้มีโอกาสไปพักศึกษาข้อวัตรและฟังธรรมกับหลวงปู่แบน ที่วัดดอยธรรมเจดีย์ ท่านว่าหลวงปู่แบนเมตตาดูแลต้อนรับเป็นอย่างดีแม้เราจะเป็นเพียงสามเณร  ตอนนั้นท่านพาเณรชื่อวิเศษ(จากบ้านต้อง)ร่วมไปด้วย และเห็นว่าเณรวิเศษมีท่าทางเอาจริงเอาจังท่านจึงแนะนำให้อยู่ศึกษาต่อที่วัดดอยธรรมเจดีย์ เพราะที่นี่มีข้อวัตรและการปฏิบัติดีมาก  ส่วนท่านกับเณรสมภารจะเดินวิเวกกลับหนองป่าพง  หากเณรวิเศษไปด้วย ตอนขากลับนครพนมจะลำบาก เพราะต้องเดินกลับคนเดียว  จากนั้นตอนหลังหลวงปู่กินรีพูดเปรยเล่นๆ กับท่านว่า เณรวิเศษลูกศิษย์เณรฑูรย์บรรลุอรหันต์(หลงเข้าใจไปเอง)ที่วัดดอยธรรมเจดีย์นั่นแหละ แล้วก็กลับไปเทศน์สอนท่านและพระเณรที่บ้านต้อง จนหมู่พวกรำคาญ ก็เลยต้องให้สึกไป
            ท่านอยู่ที่วัดหนองป่าพง ท่านก็ช่วยสังเกตสอดส่องเพื่อนสหธรรมิกร่วมสำนัก โดยเฉพาะเรื่องการลาสิกขา มีหลายคนพอออกพรรษาก็ตั้งท่าจะสึก บางคนก็เตรียมเสื้อผ้าไว้ตั้งแต่ยังไม่ออกพรรษา ท่านก็เก็บข้อมูลไปเล่าให้หลวงปู่ชาฟัง (ท่านบอกว่าห่วงใยเพื่อนไม่อยากให้สึกไป เพราะวิถีฆราวาสมันเป็นทางไปสู่ความตกต่ำ) หลวงปู่ชาก็เอามาเทศน์ มันก็เลยโดนใจ จนคนนั้นๆ กลัว และเป็นที่กล่าวขานกันว่าทำอะไรหลวงปู่ชารู้หมด ต้องสำรวมระวัง  (ท่านว่าบางเรื่องไม่ได้ไปเล่าแต่หลวงปู่ชาก็รู้เอง)  พระหลายองค์ตอนนั้นกลัวหลวงปู่ก็เลยไม่กล้าไปขอลาสึก แล้วก็ทนอยู่ได้เรื่อยมา จนปัจจุบันนี้กลายเป็นพระเถระที่มีชื่อเสียงในสายวัดหนองป่าพง
            มีหลายครั้งท่านได้ไปจำพรรษาตามที่ต่างๆ กับหลวงปู่ฉลวย (วััดป่ามหาวิทยาลัย อ.หัวหิน) ซึ่งเป็นสหธรรมิกของหลวงปู่ชา  หลวงปู่ชาตั้งฉายาให้หลวงปู่ฉลวยว่า ททท. (เทศน์ทันที)  ท่านเคยนั่งสู้(ฟังเทศน์)กับหลวงปู่ฉลวยอยู่เกือบสี่เดือน เพราะหลวงปู่ฉลวยเทศน์ทุกวัน พระเณรองค์อื่นลุกไปก่อนหมด แต่ท่านยังนั่งสู้อยู่จนกว่าหลวงปู่ฉลวยจะบอกให้เลิกเอง ซึ่งในแต่ละวันก็ล่วงเที่ยงคืน นั่งสู้กันอยู่อย่างนั้นทั้งคนเทศน์และคนฟัง
            ท่านเคยแก้ความง่วงด้วยการวิ่งจงกรม (ตอนกลางคืน) จากจุดศาลาใหญ่ไปถึงพิพิธภัณฑ์ในวัดหนองป่าพง (เมื่อก่อนเป็นทางเดินธรรมดา ยังไม่มีกำแพงและสิ่งปลูกสร้างทั้งสองอย่าง)
            จากประสบการณ์ที่ท่านได้เห็นมามากมายเกี่ยวกับการนั่งสมาธิ ทำให้ท่านเน้นว่าให้ระวังเรื่อง มิจฉาสมาธิ คือการไปนั่งหลับตาแล้วใฝ่หาความสงบ และอยากเห็นนั่นเห็นนี่ นั่นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ท่านเห็นมามากแล้ว สมัยอยู่กับหลวงปู่ชาก็เกิดเรื่องแบบนี้เยอะ หลวงปู่ชาต้องคอยขนาบไว้บ่อยๆ  ปกติหลวงปู่ชาจะพานั่งสงบเงียบๆ ไม่เกินหนึ่งชั่วโมง  นอกนั้นหลวงปู่จะใช้วิธีการเทศน์อบรมไปด้วยและนั่งฟังไปด้วย บางทีก็เทศน์กันต่อหลายชั่วโมง  ถ้าใครง่วงสัปหงกหลวงปู่ชาท่านจะจี้เลย บางทีก็บอกให้ยืนขึ้น  และยิ่งถ้าใครไปเล่าให้ฟังว่านั่งสมาธิแล้วเห็นนั่นเห็นนี่แบบประหลาดๆ เห็นเทวดานางฟ้า ยิ่งโดนหนักเลย  หลวงปู่ชาจะบอกว่าให้เลิกนั่งสมาธิ ให้เปลี่ยนไปเดินจงกรมให้มากๆ  บางคนก็ดื้อไม่ยอมฟัง คิดว่าตัวเองทำสมาธิแล้วเห็นนั่นเห็นนี่ก็เข้าใจว่าได้ผลดี แต่ต่อมาก็เห็นสึกออกไปอยู่กับผู้หญิงทั้งนั้น
            ท่านเป็นคนตัดเย็บจีวรถวายให้กับท่านสุเมโธ และหลวงพ่อมหาอมร ตอนที่ทั้งสองท่านไปอยู่ที่หนองป่าพงสมัยแรก  หลวงพ่อมหาอมรบอกว่าเก็บจีวรชุดนั้นไว้ใต้องค์พระใหญ่ที่วัดป่าวิเวกธรรมชาน์ (ข้อมูลข้าพเจ้าได้ยินเองจากปากหลวงพ่อมหาอมร ตอนท่านมาเทศน์ที่วัดสุภัททมงคล ธ.ค.52)
            ท่านว่าอยู่กับหลวงปู่ชาไม่เคยรู้สึกว่าลำบาก (ตลอดชีวิตการเป็นนักบวชมาจนทุกวันนี้ก็เช่นกัน) บางคนไปพูดว่าอยู่กับหลวงปู่ชาลำบากอย่างนั้นอย่างนี้ พูดไปได้ไม่เกรงใจคนอื่นบ้าง ถ้าลำบากมันก็สึกไปแล้ว ถ้ายังอยู่เป็นพระได้ก็แสดงว่าไม่ได้ลำบาก  หรือบางคนบอกว่าเป็นศิษย์หลวงปู่ชา แต่หลวงปู่สอนหรือพาทำอะไรก็ไม่ทำตาม อย่างเรื่องเลี้ยงหมา เลี้ยงไก่ เลี้ยงแมว หลวงปู่ชาไม่พาทำ และไม่พาเอาเก็บเศษอาหารจากบาตรไปเลี้ยงมันด้วย มันจะติดนิสัย ท่านว่ามันก่อความรำคาญขณะกำลังเทศน์อบรมพระเณรมันก็ส่งเสียงรบกวน และทำความสกปรกให้วัด  แต่เดี๋ยวนี้ศิษย์หลวงปู่ชาหลายวัดก็พากันเลี้ยงหมา เลี้ยงไก่ เลี้ยงแมว จนโยมไม่รู้ว่ากราบไปจะถูกพระหรือถูกหมากันแน่  กินอารมณ์กรรมฐานไม่เป็นก็ไปกินหมากินแมวเป็นอารมณ์
            ท่านเคยไปจำพรรษาที่เพชรบูรณ์ และนำพาโยมปฏิบัติตลอดพรรษา มีโยมศรัทธาจะสร้างวัดถวาย แต่ท่านก็ไม่รับ เหตุผลก็เพราะว่าเป็นเขตภูเขาที่เขาทำสวนส้มซึ่งฉีดพ่นสารเคมีปริมาณมาก  ถ้าสร้างวัดอยู่แถวนั้นก็คงได้ตายเร็วกว่าปกติ
            ท่านเคยไปวิเวกทางภาคใต้ ไปบิณฑบาตในเขตหมู่บ้านชาวอิสลาม แรกๆ ก็ไม่ค่อยมีคนใส่บาตร ต่อมามีคนแนะนำว่าต้องเข้าไปยืนในเขตบ้านเขา เขาจึงจะใส่บาตร เพราะธรรมเนียมของชาวอิสลามคือถ้ามีแขกมาเยือนที่บ้าน เขาจะต้องให้การต้อนรับด้วยดี 
            เส้นทางที่ท่านเที่ยววิเวกไปนั้น ท่านบอกว่าเดินตามทางที่หลวงปู่ชาเคยไป โดยจำข้อมูลไว้จากเวลาที่หลวงปู่ชาเล่าให้ฟัง ท่านเดินวิเวกไปเท่าที่จะมีข้อมูลพอให้สืบถามติดตามได้ บางที่ก็ได้ถูกตั้งเป็นวัดขึ้นภายหลัง แต่บางที่ก็ไม่เหลือร่องรอยแล้ว
            หลวงปู่ชา มอบหมายให้ท่านไปจำพรรษาที่วัดป่าโนนจันทร์ อ.เดชอุดม จ.อุบลฯ ตอนนั้นท่านเพิ่งจะกลับมาจากไปเดินวิเวก ซึ่งอีกไม่กี่วันก็จะเข้าพรรษา พอไปถึงเขาก็จัดเตรียมเสนาสนะไว้ยังไม่เรียบร้อย แต่กุฏิหลังที่ดีที่สุดนั้นเขาทำเตรียมไว้ให้ท่านพร้อมแล้ว แต่ท่านกลับแจกเสนาสนะโดยให้เณรไปพักกุฏินั้นแทน ส่วนท่านเลือกไปพักกุฏิที่มุงหลังคายังไม่เสร็จ ทำให้ชาวบ้านต้องเร่งมาทำให้เสร็จเรียบร้อยก่อนเข้าพรรษา
            เรื่องวัดป่าวิเวกธรรมชาน์นั้น ตั้งแต่ต้นชาวบ้านหนองขุมดิน(บ้านเกิดท่าน)เป็นกลุ่มที่ริเริ่มก่อตั้ง เพราะมีเจตนาว่าจะขอให้พระซึ่งเป็นคนถิ่นนี้มาอยู่ คือหลวงพ่ออินทร์ หรือไม่ก็ท่านเอง  แต่ไปๆมาๆ ผู้ผู้ใหญ่ที่อิทธิพลระดับอำเภอก็เปลี่ยนแผน ไปนิมนต์ขอกับหลวงปู่ชาโดยระบุเจาะจงว่าอยากได้หลวงพ่อมหาอมร มาอยู่ที่นี่ (ซึ่งท่านเป็นมหาคนแรกของอำเภอและเคยเป็นครูสอนโรงเรียนปริยัติในอำเภอนี้) ทั้งๆ ที่หลวงพ่อมหาอมร ก็เพิ่งจะไปฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่ชาได้เพียงแค่สองพรรษาเท่านั้น แต่สุดท้ายก็ขัดศรัทธาชาวบ้านไม่ได้ ก็เลยสรุปให้หลวงพ่อมหาอมร มาอยู่ที่นี่ (อ่านในหนังสือหลวงพ่ออมรท่านก็ระบุไว้ว่าตัวท่านเองก็ยังไม่คิดว่าจะออกไปจากวัดหนองป่าพง) ทั้งนั้นทั้งนี้ก็เป็นด้วยเหตุปัจจัยเฉพาะตน นอกเหตุเหนือผลที่คนธรรมดาจะอธิบายได้ชัดเจน
            หลวงปู่ชา ได้มอบหมายให้ท่านมาอยู่ที่ สำนักสงฆ์ป่าเครือวัลย์ (ปัจจุบันคือวัดสุภัททมงคล) เพราะอยู่ใกล้ถิ่นฐานบ้านเกิด แต่โดยส่วนตัวท่านเป็นคนชอบสันโดษ ชอบเดินทางวิเวกไปเรื่อยๆ ทั่วสารทิศ  สมัยที่อายุยังไม่มากท่านจึงไม่ค่อยได้อยู่ประจำที่นี่ จนท่านอายุมากขึ้นจึงกลับมาอยู่ประจำที่นี่ (เมื่อปี พ.ศ.2543)

สมัยพำนักอยู่ที่สำนักสงฆ์ป่าเครือวัลย์ (วัดสุภัททมงคล)

            พอท่านมาอยู่ที่สำนักสงฆ์วัดป่าเครือวัลย์ ก็มีอุปสรรคบ้าง เช่น มีคนที่เขาคิดจะเอามีดฟันท่าน (เพราะไม่ชอบที่ภรรยาตัวเองมาวัด หาว่าไปหลงชอบพระ) ตอนนั้นท่านเดินจงกรมอยู่เวลากลางคืน  แต่เขาเห็นท่านตัวใหญ่ขึ้น ๆ อย่างกับยักษ์ ก็เลยกลัว วิ่งหนีกลับไป แล้วเขาก็ไปเล่าให้ชาวบ้านฟัง ซึ่งตอนนั้นหลวงพ่อท่านก็ไม่รู้เรื่องอะไรหรอก แต่มารู้ทีหลังเมื่อตอนที่ชาวบ้านมาเล่าให้ฟัง  และครั้งหนึ่งมีคนมาเผากุฏิท่าน แต่ก็ไหม้เฉพาะเสื่อที่ปูไว้กับพื้น ส่วนอื่นๆ ก็ไม่ได้รับความเสียหายอะไร
            ท่านชอบอยู่กับธรรมชาติ เป็นอยู่เรียบง่ายแบบพระยุคโบราณอย่างที่พระพุทธเจ้าสรรเสริญ ท่านมีนิสัยสันโดษ ไม่ถือตัว แต่แฝงไว้ด้วยความจริงจัง ฉับไว เต็มไปด้วยความคิดความอ่านเสมอภาษาธรรมะของท่านเด็ดขาดพูดภาษาธรรมะแบบเอาใจชาวบ้านไม่ค่อยจะเป็น พูดทีไรก็แรงขัดกระแสชาวบ้านอยู่เสมอ เพราะมีความคิดสวนทางกันอยู่ ทำให้คน(กิเลส)ทนฟังไม่ค่อยได้  แต่จะให้ท่านดัดจริตพูดธรรมะแบบอื่นท่านบอกว่ามันไม่ปรุงแต่งมาแบบนั้น ก็เลยพูดไม่เป็น ท่านจึงถนัดแต่จะพูดสอนธรรมะสำหรับภิกษุผู้เห็นภัยและมีศรัทธามากพอ  ส่วนกับชาวบ้านทั่วไปก็พูดนิดๆหน่อยๆมันก็นึกไม่ออกแล้ว มันปรุงมาแต่เรื่องแรงๆ ขืนพูดต่อไปเขาคงวิ่งหนีกันหมด บ่อยครั้งท่านสรุปจบแบบห้วนๆ ว่า ธรรมะมันกำลังไหลมามาก มีแต่แรงๆ พอแล้ว เอาแค่นี้เถอะ
          
อย่างไรก็ตาม แม้จะชอบสันโดษ แต่ท่านก็มีเมตตาสำหรับผู้ใฝ่ธรรมเป็นอย่างมาก เพราะท่านบอกว่าคนใฝ่ธรรมที่มีศรัทธาถึงระดับจริงๆ นั้นมีน้อย ถ้าเขาได้รับข้อมูลหรือแนวทางที่ถูกต้อง เขาจะยิ่งมีศรัทธามากขึ้น และมั่นใจที่จะมุ่งหน้าเดินต่อไปได้ตรงทาง  แต่ถ้าหากเขาได้รับข้อมูลที่ไม่ชัดเจน ครุมเครือ ก็จะหลงทางไป  หรือบอกสอนเขาแบบไม่สมเหตุสมผล คนที่เขามีปัญญาก็จะเบื่อ แล้วค่อยๆ หมดศรัทธาไปจากพุทธศาสนา เพราะคิดว่าศาสนาพุทธสอนแต่ประเพณีงมงาย ต่อไปในอนาคตก็จะกลายเป็นศาสนาที่เต็มไปด้วยพวกงมงายไร้สติปัญญา เขาพูดอะไร ก็เชื่อเอา...เชื่อเอา โดยไม่คิดพิจารณาด้วยเหตุผล ในที่สุดก็แยกแยะไม่ออกว่าส่วนไหนเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ส่วนไหนเป็นคำสอนของชาวบ้าน
         
หลักธรรมที่ย้ำคือ ธรรมะคือธรรมชาติ  ธรรมะคือหน้าที่  และธรรมะคือจริง” 
การศึกษาธรรมะต้องรู้จักแยกแยะออกเป็นสองส่วน อย่าเอามาพูดปะปนกัน  คือ
ส่วนหนึ่งเป็นระดับ  โลกียธรรม  ชาวบ้าน  ปุถุชน  เสขบุคคล(บุคคลที่ยังต้องศึกษา)
อีกส่วนหนึ่งเป็นระดับ  โลกุตตรธรรม  ชาวพุทธ  อริยชน  อเสขบุคคล(บุคคลที่ไม่ต้องศึกษา)
ปราชญ์บัณฑิตที่ท่านเอ่ยสรรเสริญยกย่องอยู่เสมอๆ คือ หลวงพ่อชา และ หลวงพ่อพุทธทาส